นายกรัฐมนตรี เป็นประธานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา หวังพาน้องกลับมาเรียน
Burapanews รายงานว่า วันที่17 มกราคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ณ หอประชุมคุรุสภา กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” แก้ปัญหาเชิงรุกเด็กหลุดออกจากระบบ เพื่อคืนโอกาส สร้างอนาคตให้เด็ก และแก้ปัญหาระยะยาวให้ประเทศ ตามนโยบายรัฐบาล “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดจากระบบต้องเป็นศูนย์ โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุพัฒน์ จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” โดยมีผู้แทน 14 หน่วยงานร่วมลงนามบันทึกความตกลงฯ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และรักษาการผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำพิธีเปิดโครงการและเปิดตัวแอพพลิเคชัน “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยที่หลุดการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
จากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดโครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ว่า เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยย้ำถึงคำขวัญวันครูปีนี้ “พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้สู่อนาคต” นำมาสู่กิจกรรมในวันนี้ โดยกระทรวงศึกษาธิการผนึกกำลังร่วมมือกับ 11 หน่วยงานหลัก นำเด็กที่ตกหล่นหรือหลุดจากระบบการศึกษากลับโรงเรียน ผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ตามนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยการปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องพัฒนาคน พัฒนาความรู้ ให้สอดคล้องกับยุคสมัยในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ประสบกับปัญหาจากโรคระบาด โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ในการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในมิติต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงด้านการศึกษา ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ได้เห็นความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในการให้โอกาสกับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา แม้กระทั่งเด็กที่ยังไม่มีโอกาสได้ทำการศึกษา ทั้งเด็กปกติและผู้พิการ เพื่อที่จะให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี มีมาตรฐานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ อีกทั้ง นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะยังมีเด็กตกหล่นและเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอีกจำนวนมาก มากกว่า 100,000 คน ที่รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กลุ่มคนดังกล่าว ซึ่งโอกาสที่ให้ครั้งนี้ เปรียบเสมือนการลงทุนสร้างทรัพยากรที่สำคัญของประเทศโดยตรงอีกทางหนึ่ง และความร่วมมือกันของทุกกระทรวงทุกหน่วยงานในวันนี้ ถือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญที่รัฐบาลทำเพื่อคนไทยและประเทศไทย
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้แนะนำให้หาแนวทางในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น และสอนให้เด็กรู้จักศึกษาเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพของตนเอง ควบคู่กับการเรียนในห้องเรียน รวมทั้งควรเรียนในด้านที่ตรงกับศักยภาพของตนเองและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนการพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อเรียนจบมาแล้วจะได้มีงานทำ มีอาชีพ และรายได้สำหรับเลี้ยงดูตนเองและดูแลครอบครัวได้ ขณะเดียวกันขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันหาแนวทางที่จะดูแลช่วยเหลือไปถึงครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอีก และให้เด็กสามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาตามเป้าหมายที่กำหนด
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ยังฝากถึงผู้เกี่ยวข้องทุกคน ถึงงานเรื่องการให้โอกาสทางการศึกษากับคนไทยทุกคนว่า ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก และต้องใช้ความร่วมมืออย่างจริงจัง และเมื่อร่วมมือร่วมใจกันและลงมือทำอย่างเต็มที่แล้ว เชื่อมั่นว่าความสำเร็จและผลประโยชน์ย่อมเกิดกับคนในชาติและประเทศชาติของเราต่อไป
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาบริเวณภายในหอประชุมคุรุสภา จำนวน 9 บูธ อาทิ บูธแอปพลิเคชัน “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งเป็นแนวทางการติดตาม สอบถามสาเหตุและชวนกลับมาสู่การเรียน ช่วยเหลือ สนับสนุนเข้าสถานศึกษาที่เหมาะสม และบูธ กศน.ปักหมุด สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส เป็นระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มปักหมุด ติดตามการศึกษากลุ่มเป้าหมายพิเศษ เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามผู้ที่หลุดจากระบบการศึกษาและได้กลับเข้ามาเรียนใหม่อีกครั้ง เกี่ยวกับการเรียนการสอนผ่านระบบดังกล่าวด้วยความสนใจ พร้อมแนะนำให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปอีก รวมทั้งชื่นชมให้กำลังใจผู้ที่กลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง และอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการศึกษาและการใช้ชีวิตด้วย
ที่มา
เว็บไซต์รัฐบาลไทย
No Result
View All Result