วิบากกรรมการเมืองไทย
เมื่อวันอังคารที่ 7 ธันวาคม 2564
แม้ว่ากลุ่มสาม ป. ซึ่งเป็นแกนหลักที่สืบทอดอำนาจ คสช. ในปัจจุบันนี้จะพยายามบอกกับประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่าว่ายังคงปึกแผ่นแน่นหนาไม่มีวันจะพรากจากกัน แต่การรายงานข่าวของสื่อในปัจจุบันนี้เป็นไปในทำนองว่าไม่ค่อยลงตัวกัน โดย ป.ใหญ่คุม พปชร. ในขณะที่ ป.กลางและ ป.เล็ก จะแยกไปตั้งพรรคใหม่
สภาพดังกล่าวนั้นถูกเปิดเผยโดยบรรดากองเชียร์ของ ป.เล็ก เอง และโหมกระแสกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ในขณะเดียวกัน การเตรียมการเพื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นโดยทั่วไปตามปกติของการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างก็จัดเตรียมกระบวนการเลือกตั้งกันอย่างคึกคึก ดังนั้นใครจะเชื่ออันไหนก็เลือกเชื่อกันได้ตามใจชอบ
ในท่ามกลางสถานการณ์เช่นนั้นก็เกิดปรากฏการณ์บางอย่างที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด นั่นคืออาการที่การประชุมสภาล่มเป็นระยะ ๆ แม้ว่าผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมจะเห็นแก่ศักดิ์ศรีของสภาพยายามประคับประคองเพื่อให้สมาชิกเข้าร่วมครบเป็นองค์ประชุมก็ตาม แต่ในที่สุดก็ต้องใช้วิธีชิงปิดประชุมหลายครั้ง
จนเกิดเสียงตำหนิติเตียนผู้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมให้ได้ยินกัน
เพราะการที่สภาล่มนั้นไม่ใช่เกิดจากสมาชิกขี้เกียจหรือไม่สนใจการประชุม แต่ในระบอบประชาธิปไตยนั้นย่อมเป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดีว่านี่คืออาการประท้วงแบบหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผู้เป็นประธานที่ประชุมต้องปล่อยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสมาชิก
ลองฟังเสียงชาวบ้านที่แม้จะไม่มีความรู้ในเรื่องประชาธิปไตยมากนัก แต่ก็ทราบและเข้าใจเป็นอันดีว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประท้วงรัฐบาลด้วยการไม่เข้าประชุม
นั่นเป็นสภาพทั่วไปของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบันนี้
นอกจากสภาพทั่วไปที่สภาอาจล่มวันเวลาไหนก็ได้แล้ว ยังปรากฏว่าไม่มีกฎหมายสำคัญของรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาของสภาเลย โดยเฉพาะกฎหมายกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายตามงบประมาณ 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติและตั้งท่าจะเข้าสภามาตั้งแต่ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุดแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ไม่มีการเสนอเข้าสู่สภา
ปีงบประมาณ 2565 ผ่านไป 3 เดือนแล้ว ยังไม่สามารถจัดหาเงินมาใช้จ่ายตามงบประมาณได้ ซึ่งตามปกติเงินงบประมาณจะต้องไหลออกมาเพื่อใช้ในการบริหารประเทศในช่วง 3 เดือนแรกไม่น้อยกว่า 45% แล้ว แต่นี่กลับไม่มี จึงทำให้เกิดปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
การที่กฎหมายสำคัญไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภานั้นคือคำรับสารภาพว่าการเมืองยังไม่ลงตัวเพราะถ้าหากมีกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาแล้วเกิดสภาล่มก็ดี หรือรัฐบาลแพ้มติให้แก่ฝ่ายค้านก็ดี ก็จะเกิดผลเพียงสองประการเท่านั้นคือนายกรัฐมนตรีต้องลาออกหรือยุบสภา
นั่นเป็นวิบากกรรมที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีทางออกอย่างไร
และในสมัยประชุมนี้ฝ่ายค้านกำลังเตรียมยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ แต่ก็รู้กันว่าญัตตินี้จะเป็นญัตติยำใหญ่นายกรัฐมนตรี
ถ้าสถานการณ์ผ่านไปถึงเดือนเมษายน 2565 ฝ่ายค้านก็มีสิทธิ์จะยื่นญัตติเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้
ถ้ารัฐบาลแพ้คะแนนเสียงหรือชนะ แต่ฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ นายกรัฐมนตรีก็ต้องยุบสภา หรือลาออก หรือไม่ก็ดันทุรังยื้อกันต่อไป
และถ้าสถานการณ์ล่วงไปถึงเดือนสิงหาคม 2565 ก็จะครบกำหนดระยะเวลา 8 ปี ที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 และ 264 และเมื่อครบกำหนดนั้นแล้วก็ยังเหลือเวลาของสภาอีกปีเศษ ยังอาจจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ โดมีวาระเท่าเวลาที่เหลืออยู่
ครั้นล่วงเข้าถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 ก็เป็นวาระที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก อันเป็นที่หวาดหวั่นกันนักหนาว่าจะสามารถจัดการประชุมให้สมเกียรติเหมือนครั้งที่คุณโทนี่จัดเมื่อปี 2546 ได้หรือไม่
เหล่านี้คือวิบากกรรมการเมืองไทยที่ทุกคนจะต้องเผชิญหน้ากับมันตามห้วงระยะเวลาดังกล่าว.
ความสามัคคีปรองดองภายในชาติจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ของบ้านเมือง และประชาชน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
No Result
View All Result