องค์กรสิทธิมนุษยชน ร่อนจดหมายถึง ‘จัสติน บีเบอร์’ วอนอย่าสนับสนุนเผด็จการซาอุดิอาระเบีย
Burapanews สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ในวันที่ 5 ธันวาคม 2021 จัสติน บีเบอร์ นักร้องชื่อดังระดับโลก จะขึ้นแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในงาน ‘Formula 1 STC Saudi Arabian Grand Prix 2021’ เทศกาลดนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งเป็นเงินทุนของมกุฎราชกุมาร เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน
ขณะที่ มูลนิธิสิทธิมนุษยชน (Human Rights Foundation – HRF) ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า ซาอุดิอาระเบียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุดในโลก ทางมูลนิธิได้ติดต่อไปยังจัสติน บีเบอร์ และทีมงานของเขา เรียกร้องให้ยกเลิกการแสดง และปฏิเสธความพยายามของราชอาณาจักรในการลบล้างประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทาง HRF ยังขอให้จัสติน บีบเอร์ ใช้อิทธิพลระดับโลกของเขาในการออกแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในซาอุดิอาระเบีย เช่นเดียวกับ นิกกี มินาจ ที่เคยยกเลิกคอนเสิร์ตในซาอุดิอาระเบีย เมื่อปี 2019 ตามที่ถูกร้องขอจากมูลนิธิ
ในจดหมายความยาวสี่หน้าที่ HRF ส่งให้จัสติน บีเบอร์ ส่วนหนึ่งระบุว่า
“ซาอุดิอาระเบียไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นระบอบกษัตริย์ ที่มีมกุฎราชกุมารมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน เป็นเผด็จการปิดปากใครก็ตามที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเขา หรือเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างไร้ความปราณี ราชอาณาจักรนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลอย่างร้ายแรงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก จึงไม่น่าแปลกใจที่ซาอุดิอาระเบียถูกจัดอยู่ในประเภท “ไม่มีเสรีภาพ” ในการจัดอันดับเสรีภาพพลเมืองและสิทธิทางการเมืองทั่วโลกโดยองค์กร Freedom House
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้รังควาน กักขังตามอำเภอใจ และพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านนับไม่ถ้วน แม้จะมีความคิดริเริ่มล่าสุดที่พยายามส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ราชอาณาจักรมักมีส่วนร่วมในการปราบปรามนักเคลื่อนไหวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งมักนำไปสู่โทษจำคุกเป็นเวลานานโดยไม่มีกระบวนการที่เป็นธรรม การแสดงของคุณเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชาสัมพันธ์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ดเพื่อลบล้างความโหดเหี้ยมของเขา”
งาน Formula 1 ที่ จัสติน บีเบอร์ มีกำหนดขึ้นแสดง เป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของแผน “Vision 2030” ของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อฉายภาพความทันสมัยและความเจริญรุ่งเรืองของซาอุดิอาระเบียต่อสายตาโลก เน้นลงทุนด้านอุตสาหกรรมการกีฬาและความบันเทิง องค์กรสิทธิมนุษยชนมองว่า แผนนี้มีเจตนาลบล้างการละเมิดสทิธิมนุษยชนของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และเป็นการป้องกันไม่ให้การปฏิรูปประชาธิปไตยรูปแบบใดๆ เกิดขึ้นในประเทศได้
“มันจะเป็นเรื่องเสียหายมากสำหรับจัสติน บีเบอร์ ศิลปินที่มีผู้ติดตามทั่วโลก และเป็นไอดอลของคนนับล้าน การที่เขาจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ระบอบการสังหารของโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน”
ซีลีน อัสซาฟ-บูสตานี ประธาน HRF กล่าวพร้อมระบุว่า “ดนตรีไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่ยังเป็นรูปแบบศิลปะที่มีอิทธิพล จึงไม่ควรถูกซื้อโดยเผด็จการที่โหดร้าย”
หนึ่งในข่าวที่ดังไปทั่วโลกของประเทศซาอุดิอาระเบีย คือการลอบสังหาร จามาล คาชอกกี นักข่าวและคอลัมนิสต์ของสำนักข่าวเดอะวอชิงตัน โพสต์ ในปี 2018 แม้มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานจะไม่ยอมรับว่าเขาอยู่เบื้องหลัง แต่กรณีนี้ได้รับการยืนยันจากผู้รายงานพิเศษของ UN ว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมโดยไตร่ตรองล่วงหน้าของรัฐซาอุดิอาระเบีย
นอกจากนี้เมื่อปีที่ผ่านมา นายซาอัด อัล จาบรี อดีตหน่วยข่าวกรองของซาอุดีอาระเบีย ผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศแคนาดา ยื่นฟ้องร้องมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด ต่อศาลในกรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐอเมริกา โดยกล่าวหาว่าพระองค์ส่งทีมสังหารไปยังแคนาดาเพื่อปลิดชีพเขา
มูลนิธิสิทธิมนุษยชน HRF ระบุว่า นับตั้งแต่ขึ้นปกครองในปี 2017 เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นผู้นำในการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม หลายคนถูกล่วงละเมิด ควบคุมตัวโดยพลการ ถูกตัดสินจำคุก และถูกทรมานจนตาย กลุ่มต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายในการปราบปรามของเขา คือกลุ่มผู้หญิง ซึ่งได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง และชุมชน LGBTQ+ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยอื่นๆ
องค์กรสิทธิมนุษยชนยังระบุว่า ราชวงศ์ของซาอุดิอาระเบียใช้การควบคุมหนังสือพิมพ์และการออกอากาศของสื่อส่วนใหญ่อย่างสมบูรณ์ เสรีภาพของสื่อแทบไม่มีอยู่จริง เพราะการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อเป็นสิ่งที่ถูกกระทำอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ประชาชนยังไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก
การชุมนุมและประท้วงเป็นสิ่งผิดกฎหมายและถูกลงโทษอย่างรุนแรง แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนที่ควบคุมหรือห้ามการชุมนุมหรือการประท้วงก็ตาม โดยในปี 2013 รัฐบาลพิพากษาจำคุกคนที่วิจารณ์รัฐบาลจำนวน 7 คน พวกเขาเขียนเกี่ยวกับการประท้วงบนเฟซบุ๊ก และได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี ฐาน “ยุยงให้มีการประท้วงและทำลายความสงบเรียบร้อยของประชาชน”
ในปี 2019 ศิลปินนิกกี มินาจ เคยเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกันกับจัสติน บีเบอร์ หลังถูกเชิญโดยรัฐบาลซาอุดิอาระเบียเพื่อแสดงคอนเสิร์ตในเทศกาลดนตรีที่รับจัดขึ้น
“หลังจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว ฉันตัดสินใจที่จะไม่เดินหน้าต่อไปกับคอนเสิร์ตที่กำหนดไว้”
หนึ่งสัปดาห์ก่อนการแสดง มิกกี มินาจ ประกาศยกเลิกคอนเสิร์ตที่ซาอุดิอาระเบียพร้อมระบุในแถลงการณ์ว่า
“ในขณะที่ฉันไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการนำการแสดงของฉันไปให้แฟนๆ ในซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่ได้ให้ความรู้กับตัวเองในประเด็นนี้มากขึ้นแล้ว ฉันเชื่อว่า มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับฉันที่จะแสดงความสนับสนุนอย่างชัดเจนต่อสิทธิผู้หญิง ชุมชน LGBTQ และเสรีภาพในการแสดงออก”
No Result
View All Result