วิเคราะห์การเมืองในประเทศ : พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเสี่ยงยุบพรรค Red Zone ล้มล้างการปกครอง
เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันทุกองค์กร ที่ตัดสินคำร้องของ “ณฐพร โตประยูร” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การปราศรัยของ ภานุพงศ์ จาดนอก อานนท์ นำภา และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ปราศรัยบนเวที “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นที่อุบัติขึ้นของข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน
เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทำให้ นักการเมืองทั้งสภากว่าค่อนครึ่งสะดุ้งเฮือก เพราะจะทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ทางการเมืองตามมาเป็นลูกระนาด
นักร้องเล็งเป้ายุบพรรค
ก่อนอื่น บรรดานักร้องทางการเมืองเริ่มทำหน้าที่ ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564 “ณฐพร” ไปร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยุบ “พรรคก้าวไกล” เอาไว้ จากการกระทำ ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เขาเชื่อว่า กกต. จะขอคัดถ่ายสำเนาคำวินิจฉัยเป็นสารตั้งต้นในการฟ้องร้องเอาผิดต่อผู้กระทำการละเมิดต่อสถาบัน
ด้าน “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ คู่แค้นพรรคเพื่อไทย บอกว่า กำลังศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และรวบรวมข้อมูลว่ามีพรรคใดเข้าข่ายเกี่ยวข้อง
แม้ไม่บอกว่าจะยื่นยุบพรรคไหน แต่ “เรืองไกร” ก็บอกใบ้ว่า “พรรคที่สนับสนุนการปฏิรูปสถาบัน และการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็อาจเข้าข่ายทั้งล้มล้างหรืออาจเป็นปฏิปักษ์ตามความใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 (1) และ (2)”
พรรคเอี่ยวม็อบระวังถูกยุบ
ขณะที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผู้ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จากกรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ วิเคราะห์ในฐานะ “คนการเมือง” มองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยกรณีใกล้เคียงกันไว้ 2 ครั้ง
เคสแรก คือ ไทยรักษาชาติ เป็นเรื่องการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีบรรทัดฐานแล้ว คำวินิจฉัยเขียนไว้แล้วว่าการกระทำลักษณะไหนถึงเข้าข่าย
เคสที่สอง คือ กรณีที่การปราศรัยวันที่ 10 สิงหาคม ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีคำวินิจฉัยที่เป็นผลผูกพันทุกองค์กรไว้ว่า การกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
“พรรคการเมืองไหนไปทำอะไรที่ตีความได้ว่าเข้าข่ายเหล่านี้ก็จะมีปัญหา ส่วนจะเป็นพรรคไหน เรื่องอะไรนั้นไม่รู้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวไว้แล้ว และมีผลผูกพันไว้ด้วย”
เมื่อการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กระทั่งแปลงสภาพเป็น “คณะราษฎร” เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
พรรคการเมืองที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมแค่ไหน ถึงจะเข้าองค์ประกอบยุบพรรคนั้น “ไพบูลย์” ยกเคสพรรคไทยรักษาชาติ ที่มีมติเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ
หรืออีกกรณี หัวหน้าพรรคเป็นตัวแทนของพรรค ถ้าหัวหน้าพรรคไปปรากฏตัวในม็อบก็ทำให้มีปัญหา มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 21 ประกอบมาตรา 137 กำหนดไว้อยู่
ดังนั้น แค่ไปปรากฏตัวในม็อบก็อาจจะเป็นปัญหา ! เพราะอย่าลืมว่า พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทย-ก้าวไกล ก็เปิดหน้าชัดเจน ส่ง ส.ส.-กรรมการบริหารพรรค ไป “สังเกตการณ์” ในพื้นที่ม็อบ เพื่อไทย ถึงขั้นตั้งเต็นท์สแตนด์บายรับเรื่องร้องเรียน เมื่อ 19 กันยายน 2563
พท.ตีกรรเชียงหนี ม.112
แหล่งข่าวฝ่ายนิติบัญญัติแห่งพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์แบบหวั่นวิตก ในมุม “การเมือง” ว่า ต่อไปนี้ม็อบจะชุมนุมลำบาก เพราะจะเข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และมาตรา 116 ซึ่งโทษหนัก รุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต หรือติดคุก ถ้าเป็นพรรคการเมืองก็ถูกยุบ อย่างเช่น กรณีพรรคไทยรักษาชาติ
“ต่อจากนี้จะมีผู้ไปร้อง และเชื่อว่าเขาต้องการเอาผิดกลุ่มนักศึกษาอยู่แล้ว แต่ของพรรคไทยรักษาชาติไม่มีใครเอาไปร้องคดีอาญา เลยรอดตัวกันไป”
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยได้ยื่นญัตติด่วน ขอมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาและสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการใช้บังคับกฎหมายที่ล้นเกิน และขัดต่อหลักนิติธรรม สำหรับผู้ต้องขังทางการเมือง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112
ก้าวไกลไม่กลัวถูกยุบ
ขณะที่พรรคก้าวไกล “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรค เชื่อว่า การที่พรรคไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมือง และใช้หลักทรัพย์ประกันตัวช่วยเหลือผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีทางการเมือง รวมถึงการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฐานความผิดหมิ่นประมาท รวมทั้งมาตรา 112
ไม่เข้าเหตุในการยุบพรรค เพราะเป็นการใช้สิทธิและทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. ที่ดีของประชาชน เป็นการประกันสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
หากการไปประกันตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาตามคดีมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง หลังจากนี้ สังคมไทยต้องระบุให้ชัดเจนว่า ข้อหาไหนบ้างต้องไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวโดยเด็ดขาด เพราะถือเป็นการล้มล้างการปกครอง
ทั้งนี้ เรื่องยุบพรรค “ก้าวไกล” ไม่กังวล แต่ไม่ประมาท และเตรียมพร้อม
3 จุดเสี่ยงยุบเพื่อไทย-ก้าวไกล
“เจษฎ์ โทณะวณิก” นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน และเคยเป็นที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คณะที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560
วิเคราะห์จุดเสี่ยง “พรรคก้าวไกล-เพื่อไทย” ต้องเกี่ยวข้องม็อบแค่ไหนถึงจะถูกยุบพรรคว่า ต้องดูในข้อเท็จจริง ต้องรัดกุมพอสมควรที่บอกว่าพรรคการเมืองไป “ร่วม” ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ หรือไม่
อันดับแรก ต้องดูว่า เป็นเครือข่ายและองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือไม่ สอง ต้องดูว่า ทำในฐานะพรรคการเมืองหรือไม่ ถ้าคนในพรรคการเมืองนั้นไม่ได้ไปในฐานะพรรค ก็ไม่เข้าข่าย
เมื่อได้ข้อเท็จจริงว่าพรรคการเมืองเป็นเครือข่ายกับผู้ชุมนุมจริง มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ถ้าเข้าข่ายยุบพรรค ก็จะทำให้ถูกยุบพรรค ถ้าไม่เข้าข่ายก็ยกคำร้อง
การที่ ส.ส.เข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุม-พรรคการเมืองส่งคนไปประกันตัว จะเข้าข่ายเป็นตัวการ “ร่วม” หรือไม่ “เจษฎ์” ยก 3 ตัวอย่าง
1.ถ้าพรรคการเมืองส่งบุคลากรของพรรคการเมืองไป บอกเลยว่าเป็นการสนับสนุนจากพรรค ก. พรรค อ. คนที่ไปในนามพรรคก็บอกเลยว่า ฉันเป็นคนของพรรค ก. พรรค อ. ฉันมาสนับสนุน เห็นด้วยกับพวกเธอ ก็สุ่มเสี่ยงเข้าข่าย
2.ถ้ามีเส้นทางการเงินสนับสนุน ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เข้าข่าย
3.คนที่ไป สามารถถือได้ว่าเป็นตัวแทนของพรรคการเมือง เช่น ไปกับหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรคจำนวนหนึ่ง ก็อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมือง
“มีความเสี่ยง แต่ไม่ถึงขนาดว่าไปร่วมทันที ต้องดูที่การกระทำ ถ้าไปในฐานะผู้สังเกตการณ์ ไปดูจริง ๆ ใครมาถาม มาขอคำปรึกษา ไม่เอาอะไรสักอย่าง ขอยืนอยู่เฉย ๆ ก็ไม่เข้า แต่ถ้าไปเขียนคำปราศรัย ประมวลรวม ๆ แล้วก็อาจมีปัญหาได้ รวมถึงการถ่ายรูปอาจจะไม่ได้เข้าข่าย แต่การถ่ายรูปเดินมาเดินไป เชียร์คนนั้นที คนนี้ที อยู่ตลอด ก็อาจกลายเป็นว่าสนับสนุน แต่ทำแบบทางอ้อมหรือทำแบบซ่อนเร้นหรือปิดไม่มิดก็ต้องระวัง”
ตีกรอบ ห้ามแตะ Red Zone
“ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า วิเคราะห์หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า การปฏิรูปสถาบัน ผ่านกลไกแบบสันติวิธี โดยเสนอกฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญ แก้มาตรา 112 เสนอกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ต้องยอมรับเมื่อศาลรัฐธรรมนูญออกแบบนี้จะทำให้การรณรงค์การปฏิรูปสถาบันทำได้ยากลำบากมากขึ้น ผลจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปิดประตูปฏิรูปสถาบันโดยปริยาย
จะกลายเป็นการตัดสินไว้ล่วงหน้าแล้ว สำหรับคดีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา ถ้าดูถ้อยคำหลายท่อน หลายตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่าน มีการวางแนวไว้เต็มไปหมด เชื่อเลยว่า ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน เป็นต้นไป พวกนักร้องจะวิ่งวุ่น ขยันทำงานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนักการเมืองที่เสนอเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 เดี๋ยวจะต้องถูกร้องแน่ ๆ
ผลของคำวินิจฉัยเหมือนเป็นการตัดสินเอาไว้ล่วงหน้าสำหรับเคสที่จะเกิดตามมา อาจเป็นคดีอาญา คดีการเมือง คดีรัฐธรรมนูญ ตามมาเป็นชุด
ดังนั้น ถ้าใครไม่อยากเข้าสู่ red zone ก็จงอย่าพูด อย่าทำ อย่าแตะ ก็จะปลอดภัย พรรคไม่ถูกยุบ ส.ส.ได้เป็นต่อ อาญาก็ไม่โดน การเรียกร้องข้างนอกก็ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเดียว ก็จะอยู่รอดปลอดภัย เป็นการตี red zone ใครอยากเสี่ยงเชิญ ใครไม่อยากเสี่ยง ไปอยู่นอก red zone
แตกแยกร้าวลึก
ผลข้อที่สาม ต้องยอมรับว่าเยาวชนรุ่นนี้ทั้งเจเนอเรชั่น เขามีวิธีคิดเรื่องสถาบันไม่เหมือนรุ่นผม รุ่นก่อนผมแล้ว และเขาจึงยื่นข้อเสนออยากปฏิรูปสถาบัน
“ศาลตัดสินแบบนี้จะทำให้แตกแยกร้าวลึกมากกว่าเดิม ไม่ได้บอกว่าศาลทำให้เกิด แต่การแตกแยกทางความคิดเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เพียงแต่จะหาทางจัดการความคิดไม่เหมือนกันของคนรุ่นหนึ่งกับคนอีกรุ่นหนึ่งอย่างไร
พอศาลตัดสินอย่างนี้ แปลว่าหยุดการเคลื่อนไหว หยุดพูด หยุดการนำเสนอ หยุดการใช้เสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เสีย ถามว่าเขาเปลี่ยนความคิดไหม… ไม่เปลี่ยน เขายังเป็นอย่างนี้”
“ยิ่งทำให้ห่างออกจากกันมากขึ้นในทางความคิด แทนที่จะหาพื้นที่ปลอดภัยที่พอจะออกกันได้”
แม้คำตัดสินผ่านมาแล้ว แต่พรรคก้าวไกล-เพื่อไทยยังต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะเป็นหนึ่งในโดมิโน่ที่ถูกล้มหรือไม่
ขอขอบคุณ คอลัมนิสต์ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์
No Result
View All Result