บทวิเคราะห์ จีนรุ่นใหม่กับเรื่องของการออมเงิน
หากท่านผู้อ่านได้เคยอ่านบทความของผู้เขียนที่ผ่านๆมาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เงินของคนจีนยุคใหม่ที่ว่าค่อนข้าง “มือเติบ” การซื้อๆๆ ยืมเงินและใช้เครดิตเงินสดตามแพลตฟอร์มต่างๆ การใช้ก่อนผ่อนทีหลัง อย่างเช่นใน อาลีเพย์ เหมยถวน เทนเซนต์ จิงตง เป็นต้น เพื่อมาใช้จ่ายซื้อของที่ตัวเองอยากได้ในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นเรื่องปกติของคนจีนยุคใหม่ไปแล้ว ในประเด็นการเป็นหนี้สินและการเก็บเงินของคนยุคใหม่สื่อจีนพุ่งเป้าความสนใจไปที่กลุ่มคนที่เกิดในช่วงยุคปี ค.ศ. 1985-90 เป็นต้นไปเพราะเป็นกลุ่มที่เริ่มทำงานได้ไม่กี่ปี ไฟแรง เริ่มมีเงินจับจ่ายใช้สอย จากค่านิยมและสิ่งเย้ายวนที่มีมากในสังคมทำให้คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งใช้เงินมากกว่ารายได้จนทำให้เกิดปัญหาติดหล่มหนี้
ขณะนี้จีนกำลังจัดระเบียบและลงโทษธุรกิจปล่อยเงินกู้ออนไลน์ตามแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะให้มีข้อจำกัดมากขึ้น ทั้งนี้เป้าหมายก็เพื่อให้คนรุ่นใหม่ใช้จ่ายเงินกันอย่างชั่งใจมากขึ้นและต้องไม่ติดหล่มหนี้
แต่ก็ใช่ว่าคนรุ่นใหม่จีนจะใช้เงินมือเติบกันอย่างเดียว สื่อจีนฝูต้ากั๋วจี้ได้ทำการสุ่มตัวอย่างสัมภาษณ์ ระบุว่า คนจีนยุคใหม่ช่วงอายุ 18-34 ปีชอบออมเงินกันมากขึ้นจากตัวอย่าง 20,000 คนเฉลี่ยมีเงินออมเดือนละ 1,624 หยวนหรือประมาณ 8,120 บาท โดยรายงานนี้เป็นตัวเลขสดๆร้อนๆเมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา จากปี 2018 เป็นต้นมาในปีนี้คนยุคใหม่ช่วงอายุดังกล่าวมีทัศนคติที่อยากจะเก็บเงินมากขึ้นเพื่อให้พอใช้ในยามชรา โดย 76% ของคนจีนรุ่นใหม่ที่ถูกสัมภาษณ์คิดว่าตัวเองต้องมีเงินออมมากขึ้นเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินอย่างเช่นช่วงที่โควิด-19 ระบาดหลายอย่างหยุดชะงักงันไม่มีใครคาดคิด ดังนั้นจึงเกิดความต้องการหลักประกันชีวิตในอนาคตมากขึ้น
ตรงนี้เองผู้เขียนมองว่าจีนยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาเติบโตใหม่ซึ่งระบบประกันสังคมอาจจะยังไม่เพียบพร้อมและแข็งแรงมากนัก การจ่ายเงินบำนาญคนชรายังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องคิดและวางแผนบริหารเงินทองที่จะใช้ในอนาคตกันเอง ด้วยระบบการเลี้ยงดูของรัฐบาลยังไม่ได้ครอบคลุมเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วทำให้ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น
เนื่องจากการออมเงินของประชาชนในแต่ละยุคสมัย มีปัจจัยและสถานการณ์ที่ต่างกัน การออมของคนยุคนี้มีทางเลือกมากขึ้นไม่ใช่แค่การฝากเงินกินดอกเบี้ยที่ธนาคารอีกต่อไป แต่การลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ และการลงทุนในหุ้นกู้ หุ้นในตลาดหุ้นมีมากขึ้น ความเชื่อและค่านิยมในเรื่องของการออมเงินและลงทุนจึงต่างจากคนสมัยก่อน หากเราย้อนมองตลาดการออมเงินและลงทุนของประชาชนจีนอาจแบ่งได้เป็น 4 ยุคสมัย ดังต่อไปนี้
1.ปี 1978-2002 ยุคออกดอก ในช่วงนั้นประชาชนส่วนใหญ่จะฝากเงินกับธนาคาร และมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นตัวเลือกรอง ในช่วงนี้เริ่มมีกองทุนภายในประเทศอยู่บ้างประปรายแต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก
2.ปี 2002-2005 ยุคเริ่มต้นเปิดกว้างระบบธนาคารให้ธนาคารต่างชาติเข้ามา มีผลิตภัณฑ์กองทุนจากธนาคารต่างชาติ และมีกองทุนเงินตราต่างประเทศ ในปี 2005 กลุ่มธนาคารรายใหญ่ของจีนเริ่มเปิดขายกองทุนรวมกันเต็มที่
3.ปี 2005-2009 ยุคของการคลำทางของตัวเอง ธนาคารเพื่อการพานิชย์ของจีนเริ่มออกผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ทำให้ผลิตภัณฑ์กองทุนสกุลเงินหยวนของจีนเองเติบโตอย่างรวดเร็ว การลงทุนของประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นอิสระขึ้น ในช่วงนั้นการจองซื้อกองทุนเปิดใหม่หลายตัวได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก
4.ปี 2009 ถึงปัจจุบัน เป็นยุคการเติบโตของกองทุนภายในจีนที่ใช้สกุลเงินหยวนกลายเป็นกระแสหลัก และการเติบโตของผลิตภัณฑ์กองทุนออนไลน์ ธนาคารออกผลิตภัณฑ์กองทุนที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนหลายประเภทมากขึ้น ตอบสนองความต้องการหลากหลาย เช่น Monetary Fund (หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า货币基金 อ่านว่าฮั้วปี้จีจิน) เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ลงทุนได้ง่ายไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนเริ่มต้นเยอะและผลตอบแทนค่อนข้างคงที่ ซื้อเข้าออกได้ง่ายส่วนใหญ่ T+0 หรือ T+1 คือซื้อเข้าขายออกไม่ต้องรอนาน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งตกลงจากสองปีที่แล้วที่ประมาณ 4% เป็นต้น
หลายคนบอกว่าชีวิตที่อิสระไร้กังวลคือการมี “เงิน” อยู่ในมือ ตรงนี้ผู้เขียนไม่ปฏิเสธเพราะอย่างสังคมวัตถุปัจจุบันต้องใช้เงินทุกลมหายใจก็ว่าได้ คือนั่งเล่นดูทีวี เล่นเน็ตอยู่กับบ้านก็ยังต้องใช้จ่ายเงิน (ค่าน้ำไฟ-ค่าเน็ต) คือหากไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอยจะมีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันได้ยากมากเลยทีเดียว
บทความ – ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ(UIBE) วิทยาลัยนานาชาติ(SIE) กรุงปักกิ่ง
No Result
View All Result