Burapanews รายงานว่า
ทุก ๆ 2-3 วัน ศพถูกนำมาทิ้งที่ชานเมืองจาลาลาบัดทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน
บางศพอยู่ในสภาพถูกยิงหรือไม่ก็ถูกแขวนคอ บางศพถูกถูกตัดคอ ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงของผู้ตายหลายคนมีกระดาษที่เขียนด้วยลายมืออ้างว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของสาขาของรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ในอัฟกานิสถาน
ไม่มีใครยอมรับว่า เป็นผู้ลงมืออย่างโหดเหี้ยมในการสังหารที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายนี้ แต่คนจำนวนมากเชื่อว่า เป็นฝีมือของตาลีบัน ไอเอสก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในเดือน ส.ค. ที่ด้านนอกสนามบินกรุงคาบูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150 คน และเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของตาลีบัน ทั้งสองกลุ่มกำลังต่อสู้กันอย่างบ้าระห่ำ โดยมีเมืองจาลาลาบัดเป็นสมรภูมิของการสู้รบ
ตอนนี้อัฟกานิสถานมีความสงบมากขึ้นแล้ว หลังตาลีบันยุติการสู้รบเมื่อเข้ายึดประเทศได้ แต่ในเมืองจาลาลาบัด กองกำลังของตาลีบันเผชิญกับการโจมตีตามเป้าหมายสำคัญเกือบทุกวัน ไอเอส หรือที่คนในท้องถิ่นรู้จักในชื่อว่า “ดาเอช” กำลังใช้ยุทธวิธีตีแล้วหนีเช่นเดียวกับที่ตาลีบันใช้กับรัฐบาลอัฟกานิสถานก่อนหน้านี้จนประสบผลสำเร็จ รวมถึงการวางระเบิดริมถนน และการลอบสังหาร ไอเอสกล่าวหาตาลีบันว่า “ละทิ้งศาสนา” จากการที่ไม่มีความสุดโต่งมากพอ ด้านตาลีบันเห็นไอเอสว่า เป็นพวกมีแนวคิดสุดโต่งนอกรีต
ในจังหวัดนันการ์ฮาร์ ที่ตั้งของเมืองจาลาลาบัด หัวหน้าของหน่วยข่าวกรองของตาลีบันคือ ดร.บาเชียร์ เขามีชื่อเสียงในด้านความโหดร้าย ก่อนหน้านี้เขาเคยช่วยขับไล่ไอเอสออกไปจากฐานที่มั่นขนาดเล็กที่ ไอเอสก่อตั้งขึ้นในจังหวัดคูนาร์ที่อยู่ข้างเคียง
ดร.บาเชียร์ปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้องกับซากศพที่ถูกทิ้งไว้ให้คนดูริมถนน แต่เขากล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า คนของเขาได้จับกุมสมาชิกไอเอสหลายสิบคน นักรบไอเอสจำนวนมากที่ถูกจำคุกในสมัยของรัฐบาลปัจจุบัน หลบหนีออกจากเรือนจำไปในช่วงที่เกิดความวุ่นวายจากการที่ตาลีบันยึดครองประเทศอัฟกานิสถาน
ในที่สาธารณะ ดร.บาเชียร์และตาลีบันคนอื่น ๆ ไม่พูดถึงภัยคุกคามจากไอเอส พวกเขาบอกว่า สงครามในอัฟกานิสถานสิ้นสุดลงแล้ว และพวกเขากำลังนำพาความสงบสุขและความมั่นคงมาสู่อัฟกานิสถาน พวกเขาปฏิเสธทุกอย่างที่ขัดแย้งไปจากคำบอกเล่านี้ ดร.บาเชียร์ไปไกลถึงขนาดที่อ้างว่า ไอเอสไม่ปรากฏอยู่อย่างเป็นทางการในอัฟกานิสถาน ทั้งที่หลักฐานบ่งชี้ไปในทางตรงกันข้าม
“ชื่อ ‘ดาเอช’ หมายถึงซีเรียและอิรัก” เขากล่าว “ไม่มีกลุ่มนอกรีตในนาม ‘ดาเอช’ อยู่นี่ในอัฟกานิสถาน”
แต่เขากลับเรียกสมาชิกกลุ่มติดอาวุธนี้ว่า “กลุ่มผู้ทรยศที่ก่อกบฏต่อต้านรัฐบาลอิสลามของเรา”
ความจริงแล้ว ไอเอส ไม่เพียงแต่ปรากฏอยู่อย่างเป็นทางการในอัฟกานิสถานเท่านั้น แต่ยังก่อตั้งสาขาเฉพาะ หรือ “จังหวัด” ครอบคลุมอัฟกานิสถานด้วยในชื่อว่า “ไอเอส-โคราซาน” (IS-Khorasan) ตามชื่อสมัยโบราณของภูมิภาคเอเชียกลาง กลุ่มนี้ได้ปรากฏขึ้นในอัฟกานิสถานเป็นครั้งแรกในปี 2015 และได้ก่อเหตุโจมตีที่น่าสยดสยองในปีต่อ ๆ มา แต่หลังจากตาลีบันยึดอัฟกานิสถานได้สำเร็จ ทางกลุ่มนี้ก็ได้ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีการพบเห็นสมาชิกกลุ่มนี้มาก่อน
ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ ไอเอสได้โจมตีมัสยิดหลายแห่งที่เป็นของชนกลุ่มน้อยนิกายชีอะห์ในเมืองคุนดุซทางตอนเหนือของประเทศ และเมืองกันดาฮาร์ ฐานที่มั่นของตาลีบัน
อย่างไรก็ตาม ดร.บาเชียร์ ยืนกรานว่า ไม่มีเหตุให้ต้องกังวลใจ “เราบอกชาวโลกว่า ไม่ต้องกังวล” เขากล่าว “ถ้ากลุ่มผู้ทรยศกลุ่มเล็ก ๆ นี้ผงาดขึ้นมา และก่อเหตุโจมตีเช่นนั้น ด้วยพระประสงค์ของพระเจ้าให้เราเอาชนะกองกำลังผสม 52 ประเทศในสนามรบมาได้… พวกนั้นก็จะพ่ายแพ้ด้วยเช่นกัน” ดร.บาเชียร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสู้รบในสงครามกบฏมานาน 20 ปี ทำให้ “เป็นเรื่องง่ายสำหรับเราในการป้องกันสงครามกองโจร”
แต่ชาวอัฟกันจำนวนมากที่เหนื่อยหน่ายต่อการสู้รบที่ผ่านมานานหลายปี ก็รู้สึกหวาดกลัวการเติบโตของไอเอส เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านและชาติตะวันตก
เจ้าหน้าที่ทางการอเมริกันเตือนว่า ไอเอสในอัฟกานิสถานอาจจะพัฒนาขีดความสามารถในการโจมตีในต่างประเทศขึ้นมาได้ภายในเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี
สำหรับตอนนี้ ไอเอสยังไม่สามารถควบคุมดินแดนใด ๆ ในอัฟกานิสถานได้ ก่อนหน้านี้กลุ่มไอเอสสามารถจัดตั้งฐานทัพขึ้นมาได้ทั้งในจังหวัดนันการ์ฮาร์ และจังหวัดคูนาร์ ก่อนที่ตาลีบันและกองทัพอัฟกันที่ได้รับการสนับสนุนจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ จะโจมตีขับไล่พวกเขาออกไปได้ ทางกลุ่มมีนักรบเหลืออยู่เพียง 2,000-3,000 คน ขณะที่ตาลีบันมีสมาชิกราว 70,000 คน ซึ่งปัจจุบันมีอาวุธอเมริกันไว้ใช้งาน
แต่มีความหวาดกลัวว่า สุดท้ายแล้ว ไอเอสอาจจะสรรหานักรบต่างชาติชาวปากีสถานและเอเชียกลางบางชาติที่เชื่อว่า อาศัยอยู่ในอัฟกานิสถาน ประกอบกับการทำให้สมาชิกตาลีบันมาเข้าร่วมกับตัวเอง ถ้าเกิดมีการแตกแยกกันภายในขึ้นในอนาคต สหรัฐฯ หวังว่า จะใช้การโจมตีที่เรียกว่า “ข้ามขอบฟ้า” ต่อไป ซึ่งเป็นการโจมตีจากภายนอกอัฟกานิสถาน พุ่งเป้าโจมตีไอเอส แต่ตาลีบันมั่นใจว่า จะสามารถจัดการกลุ่มไอเอสได้เพียงลำพัง
สมาชิกจำนวนมากของไอเอสเป็นกลุ่มที่แปรพักตร์มาจากตาลีบัน และสมาชิกตาลีบันจากปากีสถาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่แยกออกมาต่างหากแต่มีความเกี่ยวพันกัน “เรารู้จักพวกเขาดี และพวกเขารู้จักเราดี” สมาชิกในตาลีบันคนหนึ่งบอกกับผม พร้อมกับรอยยิ้มอย่างมีเลศนัย